โรคของลูกแมวที่เจ้าของควรรู้และตรวจก่อนพาแมวใหม่เข้าบ้าน

โรคของลูกแมวที่เจ้าของควรรู้และตรวจก่อนพาแมวใหม่เข้าบ้าน

ลูกแมวหลังคลอดจะได้รับภูมิคุ้มกันมาจากนมน้ำเหลืองของแม่ หลังจากนั้นภูมิจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆจนกว่าเด็กๆจะทำวัคซีนครบ จึงจะสามารถต้านทานโรคได้ ดังนั้นช่วงเวลานี้ลูกแมวจึงมีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่ายซึ่งบางโรคก็มีความรุนแรงมาก จนทำให้เด็กๆป่วยหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้ จะมีโรคอะไรกันบ้าง ที่ทาสอย่างพวกเราควรรู้จัก ไปติดตามอ่านต่อกันได้เลย

  1. หมัด เหา นอกจากจะทำให้แมวคัน ไม่สบายตัวแล้ว ยังทำให้แมวเป็นโรคพยาธิเม็ดเลือด เกล็ดเลือดต่ำได้อีกด้วย หากมีบนตัวแมวควรหยอดยาป้องกันเพื่อไม่ให้แพร่ไปให้แมวตัวอื่นในบ้าน
  2. ไรหู หากมีขี้หูดำและคันหู ควรรักษาด้วยการหยอดยาที่หูและหลังคอจนหาย แล้วจึงปล่อยน้องแมวรวมกับตัวอื่น
  3. ไข้หัดแมว เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ร้ายกาจ ทำให้น้องแมวอาเจียน ท้องเสียเป็นเลือด หากเป็นมากถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย โดยสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสไข้หัดแมวในอุจจาระซึ่งรู้ผลภายใน 15 นาที
  4. โรคเอดส์แมว เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่รักษาไม่หาย และสามารถติดทางบาดแผลจากการกัดกันตรวจได้โดยนำตัวอย่างเลือดมาตรวจซึ่งทราบผลภายใน 15 นาที 
  5. โรคลิวคีเมียหรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่รักษาไม่หายและสามารถติดไปหาแมวตัวอื่นในบ้านได้ ด้วยการเลียขน ทานน้ำและอาหารร่วมกัน ตรวจได้โดยนำตัวอย่างเลือดมาตรวจทราบผลภายใน 15 นาที
  6. เชื้อรา หากน้องมีอาการคัน ขนร่วง ควรรักษาให้หายก่อนด้วยการทานยาและอาบน้ำหมักแชมพูยาจนหาย จึงรวมกับแมวตัวอื่น แถมเชื้อรานี้ยังสามารถติดเจ้าของได้ด้วย
  7. โรคหวัดแมว หากแมวมีอาการจาม ตาเจ็บ มีขี้ตา มีน้ำมูก บางตัวเป็นเยอะอาจติดเชื้อลงปอดได้

จึงควรแยกเลี้ยงจากแมวตัวอื่น รักษาให้หายก่อนแล้วค่อยปล่อยรวมกัน แต่ระวังว่าหวัดแมวบางเชื้อแม้แมวไม่แสดงอาการ ก็ยังปล่อยเชื้อให้ตัวอื่นได้ตลอดเวลา จึงควรดูแลแมวให้แข็งแรง และอาจเสริมยากระตุ้นภูมิให้น้องแมวต่อเนื่องด้วย

  1. โรคท้องเสีย เกิดได้จากการติดเชื้อแบคทีเรีย พยาธิ โปรโตซัว เชื้อบิดเป็นต้น ดังนั้นหากแมวมีอาการท้องเสียให้รีบพาไปพบคุณหมอ และแยกออกจากแมวตัวอื่นก่อนนำเข้าบ้านใหม่
  2. โรค FIP (เยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว) หากน้องแมวมีอาการท้องเสียมากให้พาไปตรวจว่าในอุจจาระมีการติดเชื้อไวรัส corona หรือเปล่า เพราะถ้าติดเชื้อเรื้อรังนานๆ จะมีการแพร่เชื้อไปให้แมวตัวอื่นได้ และหากแมวโชคร้ายเชื้ออาจกลายพันธ์ุไปเป็นโรค FIP ซึ่งรักษาได้ยากและมีโอกาสเสียชีวิตสูง

หากอยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการตรวจโรค และโปรแกรมสุขภาพของน้องแมวสามารถสอบถามกับคุณหมอที่โรงพยาบาลสัตว์เจ้าพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เลยน้า หรือดูรายละเอียดอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ (การดูแลลูกแมวที่ได้มาใหม่) และ (โปรแกรมวัคซีนและการดูแลสุขภาพน้องแมว)

      สพ.ญ.วาทินี นาคประเสริฐ

โรงพยาบาลสัตว์เจ้าพระยา อยุธยา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *