การเตรียมตัวก่อนทำหมันแมว
1. ทำวัคซีนให้ครบก่อนการทำหมัน เช่น วัคซีนรวมหัดและหวัดแมว(3เข็มห่างกันเข็มละ 1 เดือน) วัคซีนพิษสุนัขบ้า(2 เข็ม เข็มแรกเริ่มที่อายุ 3 เดือนและเข็ม 2 กระตุ้นที่อายุ 4-6 เดือน) วัคซีนลิวคีเมีย (2 เข็มห่างกันเข็มละ 1 เดือน) น้องแมวทุกตัวควรได้รับวัคซีนเพื่อลดโอกาสที่จะเกิดโรคติดต่อ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้น้องแมวแข็งแรง โดยสามารถทำวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 8 สัปดาห์ขึ้นไป (โปรแกรมวัคซีนและการดูแลสุขภาพน้องแมว)
2. ตรวจร่างกายโดยสัตวแพทย์และตรวจเลือดก่อนการทำหมัน การทำหมันเป็นการผ่าตัดขนาดเล็ก ใช้เวลาไม่นาน มีความเสี่ยงน้อยถ้าน้องแมวมีร่างการพร้อม สุขภาพดี น้องแมวบางตัว ภายนอกดูปกติดี แต่อาจมีโรคแฝงที่ยังไม่แสดงอาการก็ได้ ดังนั้นการตรวจเลือดและตรวจร่างกายเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญ (ตรวจค่าเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ค่าตับ ต่าไต และอื่นๆ โดยความเหมาะสมขึ้นอยู่กับอายุ สภาพร่างกายของแมว ตามที่สัตวแพทย์เห็นสมควร)
3. การตรวจหัวใจ น้องแมวไม่เหมือนน้องหมา การตรวจหัวใจโดยใช้หูฟังและการตรวจเลือดไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัย น้องแมวหลายๆตัวมักมีปัญหาโรคหัวใจแฝง ซึ่งจะส่งผลทำให้มีความเสี่ยงในการผ่าตัดเพิ่มขึ้น ดังนั้นที่โรงพยาบาลสัตว์เจ้าพระยา จะมีการตรวจเอคโค่หัวใจคร่าวๆ(อัลตราซาวด์คลื่นความถี่สูง)ให้น้องแมวทุกตัวที่มาทำหมันด้วย เพราะหากพบว่าน้องแมวมีความเสี่ยงของการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่างหนาตัวมากกว่า 6 มิลลิเมตร จะมีการปรับชนิดของยาสลบ กระบวนการของการวางยาสลบ รวมถึงอัตราการให้น้ำเกลือให้เหมาะสมกับแมวที่เป็นโรคหัวใจ เพื่อลดความเสี่ยงในการผ่าตัด วางยาสลบ และความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจวาย น้ำท่วมปอดตามมา ภายหลังการผ่าตัดได้ (คลินิกโรคหัวใจโรงพยาบาลสัตว์เจ้าพระยา อยุธยา)
4.ควรงดอาหารและน้ำ ประมาณ 8-12 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัดทำหมัน เหตุผลที่ต้องทำเนื่องจาก ระหว่างวางยาสลบ น้องแมวจะไม่รู้สึกตัวและสูญเสียความสามารถในการป้องกันการสำลัก ดังนั้นถ้าไม่ได้อดน้ำและอาหาร จะเพิ่มความเสี่ยงในการสำลักลงปอด ทำให้ปอดติดเชื้อและน้องแมวมีโอกาสป่วยจนถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้
แมวไปตรวจร่างกายเช่น เซลล์ปากช่องคลอดและฮอร์โมนร่วมด้วย เพราะถ้าผลออกมาว่าแมวยังสามารถแสดงการเป็นสัดได้ อาจหมายถึงในการผ่าตัดทำหมันนั้นเอารังไข่ออกไม่หมด ซึ่งจะทำให้แมวยังเป็นสัดต่อไปเรื่อยๆได้ แม้จะไม่สามารถตั้งท้องจากการที่เอามดลูกออกแล้ว แต่จะทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ในที่สุด ( ซึ่งข้อผิดพลาดนี้มักเกิดในกรณีที่ผ่าทำหมันข้างลำตัวเพราะอาจทำให้ผ่าตัดเอารังไข่ฝั่งตรงข้ามออกได้ยากขึ้น หรืออาจเกิดจากข้อผิดพลาดระหว่างการผ่าตัดก็เป็นได้) โดยกรณีแบบนี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกันกับในสุนัข เจ้าของจะสังเกตุเห็นว่าสุนัขยังคงเป็นสัดและมีประจำเดือนได้เหมือนปกติ ดังนั้นจึงควรรีบปรึกษาคุณหมอเพื่อทำการผ่าตัดแก้ไขเอารังไข่ออกให้หมดต่อไป
การดูแลแมวหลังทำหมัน
1.หลังจากทำการผ่าตัดทำหมันคุณหมอจะให้น้ำเกลือต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง(ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของน้องแมวแต่ละตัว) หลังจากนั้นเมื่อแมวรู้สึกตัวเดินได้และปลอดภัยดีพ้นขีดอันตราย คุณหมอจะถอดน้ำเกลือแล้วให้น้องกลับไปพักฟื้นที่บ้านต่อได้
2.ระหว่าง 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัดน้องแมวจะมีอาการเดินเซ ซึมจากฤทธิ์ยาบ้าง อาจมีอาการอาเจียนบ้างแต่อาการนี้จะค่อยๆหายไป แต่ในช่วงนี้หลังผ่าตัดแมวจะรู้สึกสับสน เครียดได้ง่าย จึงควรแยกน้องออกจากเพื่อนคนอื่นก่อนเพื่อไม่ให้เกิดการทะเลาะกัดกันเองในบ้าน ควรให้พักผ่อนในมุมส่วนตัวที่สงบ ไม่วุ่นวาย คอยให้กำลังใจ ลูบหัว และหาผ้านิ่มๆรองให้ แต่ไม่ควรไปจับหรืออุ้มที่บริเวณแผลผ่าตัดเพราะจะทำให้แมวเจ็บและระแวงได้
3. เมื่อแมวรู้สึกไม่เครียดและสบายตัวแล้วให้เริ่มใส่คอลล่า(ปลอกคอกันเลียแบบพลาสติก ถ้าแมวที่เรียบร้อยอาจใช้เป็นแบบดอกไม้นิ่มๆได้ แต่ถ้าแมวที่ค่อนข้างซนควรเป็นแบบพลาสติกแข็งใสจะดีกว่า เพราะหากแมวเลียแผล แม้จะมีผ้าแปะแผลอยู่ไม่หลุด แต่น้ำลายมีเชื้อโรคจะทำให้แผลผ่าตัดติดเชื้อเป็นหนอง จะต้องมาทำแผลทุกวัน 7- 14 วันกว่าแผลจะหาย ถ้าหากโชคร้ายอาจต้องทำการผ่าตัดใหม่ได้ แถมในน้องหมา หมอยังเคยเจอว่าถ้าไม่ใส่คอลล่า บางตัวแทะแผลจนกัดกินไส้ตัวเองก็มีนะ) หากน้องแมวไม่ยอมจริงๆ เครียดมากหลังจากใส่คอลล่า (ดิ้นมาก กระโดดมาก) อาจลองใช้เสื้อคลุมผ่าตัดแทน แต่ต้องเฝ้าระวังการเลียแผลผ่านเสื้อด้วย เพราะหากเลียจนเสื้อและผ้าแปะแผลเปียกน้ำลายก็จะติดเชื้อได้เช่นกัน สำหรับแมวตัวผู้นั้นหากไม่เลียแผลมากอาจไม่ต้องใส่คอลล่าก็ได้ จะได้ไม่เครียดมาก แต่ถ้าเลียเยอะจริงๆ ก็จำเป็นต้องใส่ด้วย
4.อย่าให้แมวกระโดดเพราะจะทำให้แผลอักเสบ และอาจมีเลือดไหลได้ ควรขังกรง หรือให้อยู่ในห้องที่ไม่มีตู้สูง แมวจะได้ไม่กระโดด
5.อาหารและน้ำ ควรมีให้อย่างเพียงพอเพราะแมวหลังผ่าตัดจะทานอาหารน้อยกว่าปกติ ในช่วง 3 วันแรกหากน้องทานอาหารน้อยควรให้อาหารเหลวแบบเป็นซอง ไก่ต้ม ปลาต้มเสริมจากอาหารปกติ หรืออาหารเสริมสำหรับสัตว์ป่วยเช่น recovery ของ royal canine หรือ a/d ของ hill ใส่ไซริงค์ป้อนเสริมก็จะช่วยทำให้น้องฟื้นตัวได้ไวขึ้น แต่หากบางคนดูทานอาหารลำบากขณะใส่คอลล่าอาจถอดคอลล่าออกเวลาทานอาหารได้บ้าง แต่ควรเฝ้าดูไม่ให้เค้าเลียแผลโดยเด็ดขาด อย่าเผลอเพราะเค้าอาจหลอกให้เราตายใจได้นะ
6.กระบะทราย ควรสะอาดและตักบ่อยๆ เพราะอาจมีการติดเชื้อเข้าไปในแผลผ่าตัดได้ โดยเฉพาะน้องแมวตัวผู้ หมั่นคอยเอาเบตาดีนแต้มที่ไข่อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง หากมีทรายแมวไปติดแผลให้แกะออกแล้วแต้มยาทับอีกครั้ง
7.ทานยาฆ่าเชื้อให้ครบและต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้แผลติดเชื้อ แต่หากน้องแมวป้อนยายาก ทางโรงพยาบาลสัตว์เจ้าพระยา มียาฆ่าเชื้อแบบออกฤทธิ์ยาว14 วันสามารถฉีดเพียงครั้งเดียวในวันที่ผ่าตัดได้เลย โดยที่เจ้าของและแมวไม่ต้องเครียดกับการป้อนยาเลย (สามารถสอบถามคุณหมอเพิ่มเติมได้นะคะ)
8.ล้างแผลและตัดไหม คุณหมอจะนัดน้องแมวตัวเมียมาล้างแผลวันที่ 3 หลังการผ่าตัด และนัดตัดไหมวันที่ 7- 10 ตามความเหมาะสมของแผล สำหรับน้องแมวเพศผู้จะให้เจ้าของแต้มยาเบตาดีนที่แผลวันละ 1 ครั้งและนัดมาตัดไหมในวันที่ 7-10 เช่นกัน
9.หลังจากตัดไหมแล้ว จะให้ใสคอลล่าและแปะแผลต่ออีก 3วัน จึงให้เจ้าของแกะผ้าแปะแผลออกเองที่บ้านได้เลย จนสังเกตุว่าแผลไม่มีสะเก็ดแล้วจึงค่อยให้น้องแมวอาบน้ำได้
ความผิดปกติของแมวหลังทำหมันที่เจ้าของควรสังเกตุ
1.หากพ้น 24 ชั่วโมงไปแล้วแมวยังมีอาการซึม ไม่ยอมลุกเดิน ไม่ทานอาหารและน้ำ แม้จะถอดคอลล่าหรือเสื้อผ่าตัดแล้วก็ตาม หรือมีอาการหอบหายใจผิดปกติ อ้าปากหายใจ ให้รีบพากลับมาพบคุณหมอ ส่วนใหญ่ที่พบบ่อยจะเกิดจากการแพ้ยาสลบ หรืออาจมีโรคหัวใจวายแทรกซ้อน (แต่ของโรงพยาบาลเราจะเกิดน้อยมากเพราะเรา Echo หัวใจให้น้องแมวทุกตัวก่อนทำการผ่าตัด จึงช่วยลดความเสี่ยงได้มาก)
2.หากน้องแมวมีอาการซึม ไม่ทานอาหาร อาเจียน ให้รีบพามาหาคุณหมอ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากน้องแมวมีโรคบางอย่างแฝงอยู่เช่น ไข้หัด ลิวคีเมีย พยาธิเม็ดเลือด เพราะการตราจเลือดพื้นฐานก่อนผ่าตัดไม่สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสได้ เมื่อน้องแมวมีความเครียดและภูมิคุ้มกันต่ำหลังจากการผ่าตัดจึงทำให้โรคแสดงอาการออกมาหรือง่ายต่อการติดเชื้อ แม้จะได้รับเชื้อปริมาณไม่มากก็ตาม ดังนั้นคุณหมอจึงแนะนำให้น้องแมวทุกตัวก่อนผ่าตัดควรทำวัคซีนให้ครบก่อน เพราะบางโรคอาจทำให้น้องแมวเสียชีวิตได้เช่น โรคไข้หัดแมวที่ระบาดอยู่ในบ้านเราตลอดทั้งปี แม้เจ้าของจะยืนยันว่าเลี้ยงแมวระบบปิด แต่เชื้อไวรัสนี้อยู่ในดิน หญ้าทั่วไปทำให้เจ้าของอาจนำเชื้อมาติดแมวหลังจากที่ออกไปข้างนอกมาได้
3.หากแผลผ่าตัดมีการบวมอักสบ มีเลือดไหลมาก หรือผ้าแปะแผลหลุด ควรรีบพาน้องแมวมาพบคุณหมอเพื่อไม่ให้แผลผ่าตัดเกิดการติดเชื้อ
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าการทำหมันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด และยังมีประโยชน์มากมาย รวมถึงการเตรียมตัวก่อนการทำหมันและการดูแลหลังทำหมันนั้นก็ไม่ยาก หากพวกเรามีความเข้าใจเป็นอย่างดี และหากมีข้อสงสัยหรืออยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามรายละเอียดกับคุณหมอจากโรงพยาบาลสัตว์เจ้าพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เลยนะคะ
สพ.ญ.พนิดา โวหาร
สพ.ญ.วาทินี นาคประเสริฐ
โรงพยาบาลสัตว์เจ้าพระยา อยุธยา